วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2550

BPG ฉบับที่ 7 “ว่ากันว่า ดาวดวงหนึ่งที่ตกลงเมื่อคืนนี้ จะยังทอประกายไปอีกหลายพันปีแสง”

Burma Peace Group ฉบับที่ 7
4 ตุลาคม 2550
“ว่ากันว่า ดาวดวงหนึ่งที่ตกลงเมื่อคืนนี้ จะยังทอประกายไปอีกหลายพันปีแสง”

เสียงเพลงจากภาพยนตร์เรื่อง GIE ปลุกความอ่อนล้า อารมณ์ที่เศร้าหมองจากการรับรู้ข่าวคราว ภาพประชาชนถูกทำร้ายจากสื่อต่างๆ ให้เรามีความหวังกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในชีวิตประจำวันของประชาชนในพม่าครั้งนี้
ในช่วงทศวรรษที่ 60 นับเป็นช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซีย ช่วงกลางทศวรรษดังกล่าวมีการปราบปรามผู้ที่มีแนวคิดสังคมนิยม ต่อต้านรัฐบาลทหารและนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง กล่าวกันว่ามีประชาชนที่ถูกสังหารไปกว่า 6 ล้านคน GIE ได้กลายเป็นต้นแบบของนักศึกษาจำนวนมากในอินโดนีเซีย เป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆคน ให้หันมาสนใจการเมือง ปัญหาสังคม และความทุกข์ยากที่ประชาชนส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียยังต้องประสบพบเจอแม้ผู้นำเผด็จการจะถูกโค่นล้มไปแล้วก็ตาม
ต่อมาอีก 30 ปี ทศวรรษที่ 90 ในประเทศพม่า วันที่ 8 สิงหาคม 1988 Min Ko Naing แกนนำนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการและต้องการขับไล่ เส่ง ลวิน (Seng Lwin) ผู้นำทางการเมืองในขณะนั้นให้พ้นไปจากตำแหน่ง นำกลุ่มนักศึกษา ประชาชน และพระสงฆ์ ออกมาชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาลทหารให้ดำเนินการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง หลังจากการชุมนุมยืดเยื้อยาวนาน และมีประชาชนมาเข้าร่วมมากขึ้นทุกที กองกำลังทหารพม่าตัดสินใจยิงปืนกราดเข้าไปในฝูงชนกลางดึกของคืนวันนั้น
สิบเก้าปีผ่านไป อุดมการณ์ของ GIE และ Min Ko Naing ไม่เคยสูญเปล่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าครั้งนี้ อย่างน้อยชี้ชวนให้เห็นว่า “ยังมีความหวังเสมอกับการเปลี่ยนแปลงในวันพรุ่ง” การเคลื่อนไหวในครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความทุกข์ยากลำบากและตีบตันของหนทางที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง สถาบันทางการเมืองเดิมๆของประเทศพม่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง ขบวนการนักศึกษา ถูกทำลายมาตลอดช่วงเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา ความหวังที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าถูกส่งผ่านไปยังพลังภายนอกให้ช่วยในการเปลี่ยนแปลง เช่น การคาดหวังว่าบุคคลนั้นบุคคลนี้ ประเทศนั้นประเทศนี้ องค์กรนั้นองค์กรนี้จะต้องเข้ามาทำอะไรในพม่า เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความหวังแบบนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นด้วยมาตลอด
ผมรู้สึกว่าประชาชน คนธรรมดาต่างหาก คือความหวังของการเปลี่ยนแปลง แม้จะไม่รวดเร็วแต่มันแน่นอนและยั่งยืน สิ่งที่ผมและเพื่อนร่วมทางบางคนพยายามทำ พยายามสร้าง คือ การตระหนักว่าตัวประชาชนเองมีพลัง การทำให้คนธรรมดาอย่างพวกเขาและเธอเชื่อว่า สองมือของเราสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เหมือนกับที่ผมเคยพูดไว้ว่าการออกมาต่อสู้ของประชาชนพม่าในครั้งนี้คือการเอาชนะความกลัวครั้งยิ่งใหญ่ของพวกเขา เพราะชีวิตของพวกเขาตลอดมาต้องตกอยูในความกลัวที่รัฐทหารได้สร้างขึ้น เมื่อประมาณปลายปีที่ผ่านมา ผมเริ่มเห็นความหวังจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มชุดขาว ที่กล้าลุกขึ้นมากระตุ้นให้ผู้คนก้าวข้ามความกลัว ออกมาทำอะไรที่ง่ายๆแต่มีพลัง เช่น การออกมาร่วมสวดมนต์ทั่วประเทศ ความหวังครั้งนั้นก็ทอดยาวมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อภาพธรรมยาตราของบรรดาพระสงฆ์ที่ก้าวออกมาบอกกับทหารทั้งหลายว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของชาวบ้าน ชาวบ้านต่างเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ถึงเวลาแล้วที่ประเทศพม่าต้องเกิดการ


เปลี่ยนแปลง ภาพอันน่าประทับใจระหว่างทิวแถวของขบวนสงฆ์ควบคู่ไปกับขบวนโซ่มนุษย์ที่ยื่นมือกระชับมือต่อมือ เพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งการปกป้องพระสงฆ์เหล่านั้น ผมนั่งมองภาพด้วยน้ำตาซึมๆ ออกมาด้วยความตื้นตันและเปี่ยมความหวัง แม้ในใจอีกด้านหนึ่งจะหวาดหวั่นอยู่ก็ตาม
ภาพการปราบปรามพระสงฆ์อย่างเหี้ยมโหดปรากฎออกมา แต่ทุกครั้งกลับไม่ทำให้แรงฮึดสู้ของประชาชนพม่าเหล่านั้นสูญหายไป พวกเขาพยายามเปลี่ยนวิธีการต่างๆไปเรื่อยๆเพื่อต่อสู้ให้ถึงที่สุด ผมกำลังคิดถึงเพลง L’Internationale ที่ท่อนแยกในเวอร์ชั่นภาษาไทยบอกว่า "นี้เป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย สามัคคีให้ถึงวันพรุ่ง" ผมรู้ครับว่าวันพรุ่งมันอาจจะมาถึงในอีกไม่กี่ชั่วโมง แต่มันยาวนานนักสำหรับการต้องเอาตัวรอดจากการไล่ล่าปราบปราม เพื่อลุกขึ้นสู้อย่างกล้าหาญในวันพรุ่ง
แม้ตอนนี้ทหารพม่าจะพยายามจะทำให้พวกเขาดูเหมือนหมดเรี่ยวแรงแล้ว แต่พวกเขาจะยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ผมเชื่ออย่างนั้น
"The people should not wait for leaders to lead them, everyone should be a leader in their own right. We have to be individually involved and lead. It is important for everyone to lead at this time. The monks have done a lot and many are now thrown into jails and interrogation camps. And many have to sacrifice their lives,"
คำให้สัมภาษณ์ของ Sayadaw (abbot) U Gamira ต่อสื่ออิสระ Mizzima ทำให้ผมมั่นใจการต่อสู้จะยังดำเนินไปทุกวิถีทาง และประชาชนเหล่านั้นจะ "สามัคคีให้ถึงวันพรุ่ง" ได้อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันกระแสพลังใจ การออกมาร่วมเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนในพม่าโดยคนธรรมดาสามัญก็เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่บ่อยนักที่จะเห็นเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเชีย ออกมายืนไว้อาลัยและคัดค้านการใช้ความรุนแรงในพม่า (ผมแอบหวังว่า ผมจะเห็นภาพนี้หน้ากระทรวงบัวแก้วของไทยบ้าง) เห็นภาพน้ำตาที่ไหลอาบแก้มของคนพลัดถิ่นจากพม่าในประเทศต่างๆ เห็นแรงพลังของคนหนุ่มสาวจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ และอีกหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย เห็นภาพของพระสงฆ์ และศาสนิกชนต่างๆ ออกมาส่งพลังใจให้เกิดความสงบสุขในพม่า เห็นแววตาที่เปี่ยมด้วยความหวังของเพื่อนแรงงานข้ามชาติของผม และความมุ่งมั่นที่จะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับเพื่อนชาวไทยของพวกเขา แม้ผมจะเป็นห่วงพวกเขาแต่ผมก็ไม่กล้าจะห้ามปรามพวกเขา เพราะผมเชื่อมั่นในแววตาอันเปี่ยมหวังนั้น
โทรศัพท์หลายสายที่โทรเข้าโทรศัพท์ผม นั้นเต็มไปด้วยควมกระตือรือร้น "พี่พรุ่งนี้ผมจะพาเพื่อนไปหน้าสถานฑูตนะพี่" "ผม....นะครับ ผมได้เบอร์มาจาก...... นะครับ พรุ่งนี้กลุ่มศิลปินจะไปเล่นดนตรีที่หน้าสถานฑูตนะ ติดต่อประสานงาน.......นะครับ ตอนนี้ผมอยู่ที่เชียงใหม่กำลังจะทำกิจกรรมกันครับ" ภาพของพี่น้องหลายคนที่เคยทำกิจกรรมหลายอย่างร่วมกันมา ทะเลาะกันบ้าง เข้ามาเป็นเรี่ยวแรง เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง (หลายคนทำมากกว่าผมเสียอีก)
ผมอยากเข้าไปกอดพวกเขา เพื่อขอบคุณในพลังใจของพวกเขาที่ส่งต่อให้ประชาชนพม่า ทุกคนทำให้ผมเชื่อว่า ผมยังมีความหวังกับการเปลี่ยนแปลงจากคนธรรมดาสามัญอยู่เสมอ
ผมอยากร้องเพลงเก่า ที่หลายคนอาจจะมองว่าเชย ไม่ทันสมัยแล้ว แต่ก็มีพลังสำหรับผมเสนอ
"นี้เป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย สามัคคีให้ถึงวันพรุ่ง internationale จะต้องปรากฎเป็นจริง"

ไม่มีความคิดเห็น: