วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550

พม่าเดือด : จากลานโพธ์ถึงชเวดากอง



Burma Peace Group ฉบับที่ 9
8 ตุลาคม 2550
พม่าเดือด : จากลานโพธ์ถึงชเวดากอง

28 กันยายน 2550 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ยามบ่ายแก่ๆ ศูนย์ศึกษาเอเชียอาคเนย์ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “พม่าเดือด” โดยมี ดร.ซาน อ่อง อัษฎา ชัยนาม และอดิศร เกิดมงคล ร่วมเวทีเสวนา
ดร.ซาน อ่อง เริ่มต้นฉายภาพสถานการณ์การประท้วงในประเทศพม่าว่า พระสงฆ์ในประเทศพม่ามีบทบาททางการเมืองที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะในยุคอาณานิคมที่มีพระสงฆ์เป็นผู้นำต่อต้านการรุกรานจากประเทศอาณานิคม อย่างไรก็ตามการประท้วงของประชาชนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ประชาชนมีค่าครองชีพสูงขึ้น เนื่องมาจากการประกาศขึ้นราคาน้ำมันในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประชาชนซึ่งมีรายได้ต่ำมากอยู่แล้วยิ่งส่งผลให้ประชาชนไม่มีเงินทำบุญมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การประท้วงในปี 1988 มีนักศึกษาเป็นแกนนำในการประท้วง การเคลื่อนไหวปัจจุบันที่เกิดจากพระสงฆ์ เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพระสงฆ์ ซึ่งผิดหลักคำสอนทางพุทธศาสนาในประเทศพม่าว่าใครก็ตามที่กระทำการใดเป็นอุปสรรคต่อการทำบุญกับพระสงฆ์ถือว่าเป็นบาป จึงทำให้มีการประท้วงเกิดขึ้น นอกจากนี้พลังนักศึกษายังถดถอยลง เนื่องจากสถาบันการศึกษาได้ถูกปิดลงแทบทั้งหมด ทำให้เหลือสถาบันพระสงฆ์ เพียงสถาบันเดียวที่ยังมีพลังอยู่
อดิศร เกิดมงคล มองต่อว่า ภายหลังเหตุการณ์รัฐบาลทหารพม่าสังหารประชาชนเมื่อปี 1988 มีประชาชนบางกลุ่มในประเทศพม่าพยายามเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตลอด แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเนื่องจากความหวาดกลัวรัฐบาลทหาร อย่างไรก็ตามเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญ คือเหตุการณ์นักศึกษาประท้วงรัฐบาลพม่าในปี 2000 ที่เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง โดยทำการแต่งชุดขาว ร่วมกันจุดเทียน สวดมนต์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องอย่างสันติ ซึ่งการเคลื่อนไหวในครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนให้ประชาชนเริ่มเห็นช่องทางในการเคลื่อนไหวโดยสันติ และใช้พิธีกรรมทางศาสนาเป็นเครื่องมือ โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ สถานการณ์ในพม่าจะรุนแรงอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถยุติได้หากประเทศข้างนอกยังไม่มีบทบาทที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามตนเองผิดหวังต่อบทบาทของรัฐบาลไทยและอาเซียนที่ทำให้สถานการณ์ในประเทศพม่ายิ่งแย่ลง โดยเฉพาะกรณีที่พล.อ.สรยุทธ์ จุลานนท์ และผู้นำของจีนที่กล่าวตรงกันว่ารัฐบาลพม่าจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ ทำให้รัฐบาลพม่าคิดว่าการปราบปรามประชาชนของตนนั้นไม่ผิด นอกจากนี้กรณีที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินออกมาบอกว่าสถานการณ์ในพม่านั้นไม่รุนแรง สะท้อนถึงความไม่รู้ของพล.อ.สนธิ การทูตไทยในพม่าเป็นการทูตแบบทหารที่มองแต่เรื่องความมั่นคง ขณะที่สถานการณ์ในพม่าเลวร้ายลงแต่ไทยกลับพยายามจับตามองแรงงานพม่าในไทยว่าจะมีการเคลื่อนไหวสร้างปัญหาต่อรัฐบาลไทยหรือไม่ ทั้งที่แรงงานเหล่านี้กำลังกังวลและเป็นห่วงต่อญาติพี่น้องในประเทศตนเอง ซึ่งถือเป็นสันดานของพวกยึดอำนาจคนอื่นมาก็จะกลัวแต่ปัญหาเรื่องความมั่นคง แต่ไม่มองเรื่องปัญหาการเมืองภายในประเทศพม่า ซึ่งท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลไทยสะท้อนว่า ยอมรับการปราบปรามของรัฐบาลพม่าและยอมให้มีคนตายได้ แต่ไม่ยอมหากมีคนหนีภัยการเมืองเข้ามาในไทย ซึ่งเป็นท่าทีที่เลวร้ายและไม่ถูกต้อง ดังนั้นรัฐบาลไทยควรเปลี่ยนท่าทีในเวทีอาเซียนใหม่ ด้วยการเสนอเป็นตัวกลางเจรจากับรัฐบาลพม่า ซึ่งจะทำให้ให้สถานการณ์ความรุนแรงในพม่าคลี่คลายลงได้

อัษฎา ชัยนาม กล่าวว่าตามกฎบัตรแห่งสหประชาชนระบุไม่ให้ประเทศใดยุ่งเกี่ยวกิจการภายในของประเทศอื่น ซึ่งเหตุการณ์สลายการชุมนุมในพม่านั้นในด้านกฎหมายยังถือเป็นกิจการภายในประเทศ การกดดันรัฐบาลพม่าจากมิตรประเทศจึงทำได้ยาก อย่างไรก็ตามหากมองในแง่สิทธิมนุษยชนแล้วรัฐบาลพม่าได้ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่กำหนดให้รัฐบาลมีพันธะในสิทธิมนุษยชน ในการการปกป้องดูแลประชาชนในประเทศตนเอง อย่างไรก็ตามการแสดงท่าทีของรัฐบาลไทยได้ทำให้เวทีโลกและประชาชนไทยผิดหวัง โดยเฉพาะคำพูดของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่กล่าวว่า คมช.ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับปัญหาภายในของพม่านั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรพูด เพราะต่างประเทศจะมองว่ารัฐบาลไทยที่มาจาการรัฐประหารเป็นพวกล้าหลัง ตนขอให้ประชาชนในพม่าใช้สันติวิธีต่อสู้กับรัฐบาลของตนเองต่อไป โดยประชาชนต้องร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพระสงฆ์ต่อไป อย่ายอมแพ้ เพราะยังมีทหารพม่าบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามของรัฐบาลตนเอง อาจจะกลายเป็นพันธมิตรเข้าร่วมกับประชาชน อย่างไรก็ตามปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างประชาธิปไตยในพม่าขึ้นอยู่กับประชาชนพม่าเอง เพราะต้นไม้แห่งประชาธิปไตยบางครั้งต้องรดด้วยเลือดแม้จะไม่มีใครอยากให้เกิดการนองเลือดก็ตาม
ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2550 เวลาเย็นย่ำ มีเวทีเสวนาวงเล็กๆเรื่อง “จากลานโพธิ์ถึงชเวดากอง ความรุนแรงเชิงเปรียบเทียบไทย-พม่า” ผู้ฉายภาพเรื่องราวประกอบด้วย ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล สุณัย ผาสุข และสุนี ไชยรส
บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ มองว่า การเมืองของประเทศพม่าคล้ายกับการเมืองของไทย โดยเฉพาะในช่วงปีพ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ขณะที่พม่าเรียกร้องการปลดปล่อยตนเองออกจากประเทศอาณานิคม อย่างไรก็ตามการเมืองพม่าถูกปกครองโดยเผด็จการทหารมายาวนานกว่า 45 ปี ขณะที่ประเทศไทยถูกปกครองระหว่างรัฐบาลทหารสลับกับรัฐบาลพลเรือนเป็นระยะๆ ทั้งนี้การเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์14 ตุลาคม 2516 ทำให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเปิดให้กลุ่มทุนได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศพม่ากลุ่มทุนไม่มีโอกาศเติบโตเท่าที่ควร จึงไม่มีกลุ่มอำนาจใดที่จะมีพลังพอที่จะคานอำนาจกับรัฐบาลทหารพม่าได้ ขณะที่องค์กรสื่อสารมวลชนและนักศึกษาก็ถูกปิดกั้นเช่นกัน เหตุการณ์ความรุนแรงในพม่าเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลพม่าไม่สนใจปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งที่ก่อนหน้านี้พม่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติและถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเอชีย แต่เพียงเวลาล่วงมา 30-40 ปี พม่ากลับเป็นประเทศที่ยากจนและถดถอยที่สุดในโลก เช่นเดียวกับประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งเหตุมาจากมีรัฐบาลเผด็จการและใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน ประเทศไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่าเช่นกัน เช่น กรณีโครงการท่อก๊าซไทย-พม่า เนื่องจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยต้องเสียเงินให้กับรัฐบาลพม่าวันละหลายร้อยล้านบาท ขณะที่ผู้แทนปตท.เองกลับออกมาประกาศว่าประเทศไทยรับก๊าซธรรมชาติจากพม่าเพียงวันละ 1,000 ลูกบาศก์ฟุตเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยกว่าเงินที่จ่ายไปมาก ทำให้คนไทยต้องแบกรับภาระจ่ายค่าไฟฟ้าแพงนั่นคือค่าเอฟที ซึ่งเหมือนจ่ายค่าโง่ให้รัฐบาลพม่า และทำให้รัฐบาลพม่านำเงินที่ได้ไปใช้ซื้ออาวุธในการปราบปรามประชาชน ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ปตท.คำนึงถึงมนุษยธรรมมากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจ ด้วยการระงับการจ่ายเงินดังกล่าวให้กับรัฐบาลพม่าชั่วคราวเพื่อเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงดังกล่าว
ด้านปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่า การที่อาเซียนไม่ยอมบอยคอร์ทรัฐบาลพม่า โดยอ้างว่าต้องการชักจูงให้พม่าเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยนั้น ถือว่าเป็นการล้มเหลวเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้พิสูจน์แล้วว่าประเทศพม่า



ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นหากประเทศไทยยังนิ่งเฉยไม่ยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการภายในของประเทศพม่านั้นไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลพม่าได้พิสูจน์ให้ประชาคมโลกเห็นแล้วว่าตนเองไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่กลับมีพฤติกรรมที่แย่ลงกว่าเดิม เห็นได้จากการปราบปรามประชาชนและพระสงฆ์ในขณะที่มีการประชุมสหประชาชาติ ประเทศไทยเองจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยที่กว่าครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายจากพม่า นอกจากนี้เงินที่รัฐบาลพม่าใช้ซื้ออาวุธปืนยิงประชาชน ส่วนหนึ่งมาจากค่าก๊าชธรรมชาติที่ไทยจ่ายให้พม่าปีละ 80 ล้านเหรียญหรือ 3,000 ล้านบาท ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยออกแถลงการณ์ที่รุนแรง และนานาชาติได้ร่วมมือกันประณามพม่า หากประเทศไทยยังนิ่งเฉยต่อไปเท่ากับเป็นการสนับสนุนและเห็นด้วยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ไทยและอาเซียนต้องเลิกนิ่งเฉย รัฐบาลไทย, จีน, อินเดีย และสิงคโปร์ จะต้องร่วมมือกันให้เกิดการเจรจาด้วยการบังคับให้พม่ายุติการใช้ความรุนแรง เพราะจีนและอินเดีย เป็นประเทศที่มีน้ำหนักที่สุดเนื่องจากทำธุรกิจและได้ประโยชน์จากพม่ามากที่สุด ส่วนสิงคไปร์เป็นประเทศที่ทหารพม่านำเงินจากการทำธุรกิจไปฝากไว้ ดังนั้นรัฐบาลทั้ง 4 ประเทศ ต้องร่วมมือกันกดดันรัฐบาลพม่า เพราะถือเป็นทางเดียวที่ช่วยแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นักศึกษาไทยและพระภิกษุของไทยออกมาเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยในพม่าให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ขณะที่สุณัย ผาสุข กล่าวว่า รัฐบาลทักษิณได้ร่วมมือกับรัฐบาลพม่าในการจับกุมนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย โดยส่งคนเหล่านั้นกลับไปยังประเทศพม่า เพราะคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองมากกว่ามนุษยธรรม ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันก็ไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด สังเกตได้จากท่าทีของภาครัฐที่กล่าวว่าไม่อยากเห็นชาวพม่าพลัดถิ่นมาเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งเป็นคำพูดที่แสดงถึงการไม่เห็นอกเห็นใจ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่อวดอ้างว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลไทยตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะในเขตชายแดน อ.แม่สอด และอ.แม่สาย ที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยมีแนวโน้มที่อาจร่วมมือกับรัฐบาลพม่าเพื่อจับกุมชาวพม่าในไทยที่เคลื่อนไหวประชาธิปไตย ส่งตัวกลับให้รัฐบาลพม่า สำหรับท่าทีของสหประชาชาติหรือยูเอ็นต่อการแก้ปัญหาในพม่าด้วยการส่งตัวแทนของยูเอ็นเข้าไปในพม่านั้นถือว่าล้มเหลว เพราะไม่สามารถยุติการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลพม่าได้ แต่ยังมีการตามล่าประชาชนจากทหารพม่าอยู่ นอกจากนี้นักโทษการเมืองที่ถูกรัฐบาลพม่าจับกุมไปยูเอ็นก็ไม่สามารถได้คำตอบว่ามีจำนวนเท่าใดและอยู่ที่ไหน อย่างไรก็ตามเห็นว่านอกจากจีนและอินเดียแล้ว ประชาคมโลกต้องเรียกร้องให้รัสเซียเข้ามาร่วมกดดันพม่าด้วย เนื่องจากเป็นประเทศที่ค้าอาวุธให้กับพม่า อีกทั้งขอเรียกร้องไปยังผู้ค้าและผู้ลงทุนของไทย ที่เข้าไปทำธุรกิจในพม่า เช่น บริษัทเซเว่น อีเลฟเว่น ให้ช่วยกันเรียกร้องหรือติดสติ๊กเกอร์หน้าร้านเพื่อแสดงออกให้รัฐบาลพม่ายุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชนด้วย หากรัฐบาลไทยไม่ช่วยประชาชนจากพม่าถือว่าใจดำมาก การพูดอย่างเดียวโดยไม่ทำอะไรจะไม่เกิดประโยชน์ มีความพยายามในรัฐบาลไทยที่จะปล่อยข่าวว่าสถานการณ์ในประเทศพม่าจะสร้างปัญหาให้กับประเทศเรา เช่น ในสมัยรัฐบาลทักษิณ มีการขอให้รัฐบาลทักษิณจับกุมนักศึกษาพม่า เพราะกลัวว่าจะเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลพม่า ซึ่งทักษิณก็ได้ดำเนินการตามที่ร้องขอ เพราะห่วงแต่ผลประโยชน์ตนเอง ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันก็ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลทักษิณเท่าใดนัก ดูจากที่พลเอกสนธิ กล่าวว่า รัฐบาลพม่าปราบปรามประชาชนนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: