วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2550

มอง “ความจริง” ผ่านสื่อของรัฐบาลพม่า

Burma Peace Group ฉบับที่ 6
3 ตุลาคม 2550
มอง “ความจริง” ผ่านสื่อของรัฐบาลพม่า



อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์การชุมนุมประท้วงในประเทศพม่าครั้งนี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเนื่องจากภาพข่าวและข้อมูลต่างๆ สามารถถูกส่งผ่านออกมาจากประเทศพม่าอย่างทันท่วงที แม้ว่ารัฐบาลพม่าจะสั่งปิดร้านอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศ ตัดสัญญาณสายส่งอินเตอร์เน็ต แต่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านดาวเทียม เพียงแค่ท้องฟ้าเปิด ข้อมูลข่าวสารและภาพถ่ายก็สามารถส่งผ่านออกมาสู่โลกภายนอกได้ทันที


สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตก็คือ ขณะที่โลกภายนอกกำลังเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวในประเทศพม่ากันอย่างลุ้นระทึก แต่ประชาชนในประเทศพม่ากลับกำลังรับรู้ข้อมูลข่าวสารกลับตรงกันข้ามกับสิ่งที่คนภายนอกได้รับรู้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” เลยก็ว่าได้ เพราะสื่อที่สามารถเผยแพร่ข่าวสารในพม่าได้ในขณะนี้มีเพียงโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลได้เลือกหยิบยก “ความจริง” ในแง่มุมที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนรับรู้ออกมานำเสนอเท่านั้น และดูเหมือนว่า “ความจริง” ชุดนี้จะเป็นชุดที่แตกต่างจากที่ประชาคมโลกรับรู้อย่างสิ้นเชิง


ปัจจุบันสถานีโทรทัศน์ในพม่าซึ่งเป็นของรัฐบาลมีสองช่อง คือ MRTV 3 และ Myawady TV ในยามปกติ ข่าวสารที่นำเสนอผ่านโทรทัศน์ทั้งสองช่องจะมีเฉพาะข่าวกิจกรรมของผู้นำทหาร กลุ่มแม่บ้านทหาร และสมาคมเอกภาพ หรือ USDA (Union Solidarity Development Association) ซึ่งมีลักษณะคล้ายลูกเสือชาวบ้านของเรา ส่วนข่าวสารที่นำเสนอแบบรายงานข้อเท็จจริง เช่น อุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม จะไม่ได้รับการนำเสนอมากนัก หรือถูกนำเสนอเฉพาะบางมุมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลเท่านั้น ส่วนหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล คือ หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์จะนำเสนอข่าวสารในทางเดียวกัน คือ ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของทหาร และโจมตีพรรคฝ่ายค้านและผู้เรียกร้องประชาธิปไตย


นับตั้งแต่รัฐบาลพม่าประกาศขึ้นราคาน้ำมันแบบพรวดพราดชั่วข้ามคืนเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา สิ่งที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อของรัฐกลับไม่ได้เป็นภาพความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องเผชิญกับข้าวยากหมากแพง และเมื่อพระสงฆ์เริ่มออกมาเดินขบวนประท้วง โดยเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่รัฐอาระกัน ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือติดกับบังคลาเทศ รัฐบาลกลับโจมตีกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นพระปลอมและมีเพียงสองสามรูปเท่านั้นที่ออกมาชุมนุมประท้วง


ผลจากการโจมตีผ่านสื่อของรัฐดังกล่าวทำให้บรรดาพระภิกษุและประชาชนเริ่มไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น จนนำไปสู่การชุมนุมของพระภิกษุหลายเมือง โดยเฉพาะเมืองปะโค๊ะกู ซึ่งเป็นเมืองที่มีมหาวิทยาลัยสงฆ์ และมีพระภิกษุและสามเณรนับหมื่นรูปอาศัยอยู่ที่เมืองแห่งนี้ หลังจากเจ้าหน้าที่รัฐได้จับตัวพระภิกษุสามรูปซึ่งรวมชุมนุมประท้วงไปทรมานเมื่อวันที่ 5 กันยายน บรรดาพระภิกษุจึงเริ่มไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้นและเรียกร้องให้รัฐบาลขอขมา แต่รัฐบาลกลับปฏิเสธผ่านสื่อของรัฐ และจับกุมพระภิกษุที่ได้รับบาดเจ็บเข้าคุกในวันรุ่งขึ้นทันที


สิ่งที่รัฐบาลโจมตีพระภิกษุผ่านสื่อได้สร้างกระแสความไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อพระภิกษุและแม่ชีเริ่มออกมาชุมนุมทั่วกรุงย่างกุ้ง มัณฑเลย์ และอีกหลายเมืองใหญ่ จนเต็มท้องถนน ภาพข่าวที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อของรัฐกลับตรงกันข้ามกับภาพที่ประชาคมโลกเห็น นั่นคือ ภาพของพระภิกษุและแม่ชีกำลังทำวัตรอยู่ในวิหารอย่างสงบ โดยรัฐบาลพยายามโจมตีกลุ่มพระภิกษุที่ชุมนุมอยู่บนถนนว่าเป็นพระปลอม ไม่ได้ปฏิบัติกิจของสงฆ์เหมือนกับภาพพระภิกษุที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อของรัฐ


และเมื่อวันที่ 24 กันยายนก่อนการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม นายทุระมิ้นหม่อง รัฐมนตรีกระทรวงศาสนาของพม่าได้ประกาศทางสถานีโทรทัศน์ MRTV ให้กลุ่มของพระภิกษุยุติการประท้วงโดยด่วน มิเช่นนั้นจะถูกลงโทษ นอกจากนี้ได้กล่าวโจมตีว่าการประท้วงเป็นการกระทำที่ผิดหลักศาสนา โดยกล่าวว่าพระภิกษุที่ออกมาประท้วงมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของพระภิกษุทั่วประเทศ หลังจากข่าวออกเผยแพร่ได้เพียง 1 ชั่วโมง บรรดาพระภิกษุและกลุ่มผู้ประท้วงต่างพากันออกมาชุมนุมเพิ่มขึ้นเป็นสองแสนคนในชั่วพริบตา และภาพผู้คนเรือนแสนก็ได้ถูกส่งผ่านออกมาให้ประชาคมโลกได้เห็นกับตาตนเอง ขณะที่สื่อของรัฐยังคงนำเสนอเฉพาะภาพพระภิกษุทำวัตรอยู่เช่นเดิม


หลังจากการปราบประชาชนเมื่อวันที่ 26 กันยายน โดยรัฐบาบใช้แก๊สน้ำตา กระบอง ตามด้วยกระสุนปืนปราบปรามประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมทั้งช่างภาพชาวญี่ปุ่น สิ่งที่รัฐบาลประกาศผ่านสื่อของตนกลับเป็นเพียงตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่ถึง 10 คน และเหตุผลที่ช่างภาพญี่ปุ่นเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุชุลมุน ขณะภาพที่ประชาคมโลกได้เห็นกับตา คือ ภาพของทหารพม่าจ่อยิงช่างภาพญี่ปุ่นระยะเผาขน รวมทั้งภาพของผู้เสียชีวิตจำนวนมากกว่าตัวเลขของรัฐบาล โดยเฉพาะภาพพระภิกษุมรณภาพและถูกโยนร่างไร้วิญญาณทิ้งลงในคูน้ำ


จนถึงวันนี้ รัฐบาลพม่ายังคงหยิบยก “ความจริง” คนละชุดกับที่ประชาคมโลกรับรู้นำเสนอผ่านสื่อของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลพม่าดูเหมือนจะลืมไปว่า ด้วยเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารของโลกยุคใหม่ รัฐบาลพม่าไม่สามารถปกปิด “ข้อเท็จจริง” ที่เกิดขึ้นในประเทศของตนเองได้เหมือนเช่นในอดีตอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่รัฐบาลพม่ากำลังทำจึงดูเหมือนเป็นการ “หลอกตนเองและประชาชน” ให้หลงอยู่ในโลกสมมติภายใต้จอภาพโทรทัศน์เพียงสองช่องที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้ โดยที่หารู้ไม่ว่า คนทั่วโลกกำลังเฝ้าดู “ความจริง” อีกชุดหนึ่งที่แตกต่างไปจากสื่อของรัฐบาลพม่า เป็น “ความจริง” ที่มีข้อเท็จจริงและหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยสายตาของทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น: