วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2550

บันทึกปีที่สิบเก้า

Burma Peace Group ฉบับที่ 4
2 ตุลาคม 2550
บันทึกปีที่สิบเก้า


1. 24 กันยายน ในหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงแถบชายแดนที่สงบเงียบ ข่าวสารเดินทางมาถึงพวกเราว่า ภิกษุสงฆ์ แม่ชี และประชาชนชาวพม่านับหลายหมื่นกำลังเดินเท้าท่ามกลางสายฝนอยู่กลางกรุงย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และอาจจะอีกหลายแห่งหลายเมืองที่เราไม่อาจรับรู้


เราได้กลิ่นคาวเลือดนับแต่วินาทีนั้น แต่เรากลับเงียบงัน สงบนิ่ง อย่างประหลาด จนดูเผินๆเหมือนกับไม่มีใครใส่ใจ


วันต่อๆมา แล้วกระบองก็ถูกฟาด กระสุนนัดแรกของ “รอบนี้” ก็ถูกยิงออกจากปากกระบอกปืน เรานิ่งฟังข่าวอย่างตั้งใจ ทว่าสีหน้าของผู้รับรู้แต่ละคนก็นิ่งเฉยจนเหมือนเย็นชา


จนเราอดสงสัยตัวเองกันไม่ได้


2. สำรวจความคิดกันเอง พวกเราไม่ได้เพิกเฉย ทั้งคนไทย เพื่อนชาวกะเหรี่ยงจากค่ายผู้ลี้ภัย จากเขตคุ้มครองของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ที่เป็นกองกำลังต่อต้านเผด็จการพม่าที่ใหญ่ที่สุด และจากเขตกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (ดีเคบีเอ) ที่หันไปจับมือตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลทหารแล้ว ไม่ได้มองว่าการเคลื่อนตัวของคนนับหมื่นในประเทศเป็นเรื่องปกติสามัญ แต่.. บางที.. มันอาจเป็นสิ่งที่เราใช้เวลานานถึง 19 ปีแอบเฝ้าคาดหวัง ในขณะที่ก็เฝ้าหวาดหวั่นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว


เส้นทางนี้ไม่ได้ยาวเพียงกว่าเดือนนับจากวันที่รัฐบาลประกาศขึ้นราคาน้ำมัน หรือวันที่เจ้าหน้าที่บุกเข้าทำร้ายพระสงฆ์ในวัด แต่เป็นเส้นทางสิบเก้าปี หรือสำหรับใครบางคนอาจจะนานถึง 45 ปี นับจากวันที่นายพลเนวินยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงพม่าเข้าสู่ความมืดมน


และเส้นทางนี้ก็ไม่ได้มีแต่ประชาชนพม่าในเมืองใหญ่ที่ร่วมก้าวเดิน ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้พลัดถิ่นในประเทศนับแสนได้ต่อต้านอำนาจกดขี่อยู่อย่างเงียบเชียบด้วยวิถีของตัว นั่นคือ ยอมร่อนเร่พลัดถิ่นฐาน แต่ไม่ยอมทิ้งแผ่นดินแม้จะถูกไล่ล่า


เราเชื่อ เรารู้อยู่แก่ใจว่า เมื่อถึงวันหนึ่ง ประชาชนพม่าที่พยายามก้มหน้าอดทนเพื่อความอยู่รอดในภาวะถูกกดขี่ จะต้องลุกขึ้นก้าวพ้นจากกรอบกรงแห่งความหวาดกลัวที่รัฐบาลทหารเพียรสร้างมาตลอด เราไม่รู้ว่ามันจะเป็นวันไหน แต่เราก็รู้ว่า เมื่อวันนั้นมาถึง เลือดจะนองแผ่นดินอีกครั้ง


ที่สำคัญ เราไม่อาจจะเจ็บปวดคั่งแค้นไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะความรุนแรงเหี้ยมโหดที่มนุษย์ทำต่อมนุษย์ด้วยกัน ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นในวันนี้สำหรับพี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่ต้องอพยพลี้ภัยมาอยู่ริมขอบแดน การเข่นฆ่าประหัตประหารอย่างเหี้ยมโหด การเผาทำลายข้าวเม็ดสุดท้ายและบ้านเรือน การข่มขืน การทรมาน ดำเนินอยู่ใกล้ตัวกับญาติพี่น้องและคนใกล้ชิด ไม่รู้จบไม่รู้สิ้น จนดูเหมือนว่าโลกไม่อยากจะรับฟัง และผู้ถูกกระทำไม่อยากจะร้องไห้อีกต่อไป


เราต่างสับสนไม่แพ้กัน มันเป็นความรู้สึกที่แปลกประหลาด หัวใจเราเต้นแรงด้วยความตื่นเต้น แต่เราก็โกรธตัวเองที่แอบยินดีกับการลุกขึ้นสู้ เพราะรู้อยู่ว่ามันจะต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อ เรารู้สึกมีความหวัง แต่ก็สิ้นหวังไปพร้อมๆกัน เราเจ็บปวดกับความโหดเหี้ยมและการสูญเสียที่ย่างกุ้ง แต่เราก็ไม่อาจคร่ำครวญได้มากนัก เพราะเราคร่ำครวญมามากเกินไปแล้วกับเหตุการณ์แถบชายแดน โดยเฉพาะภาคตะวันออกของประเทศพม่า ดินแดนกลุ่มชาติพันธุ์


3. ร่ำลือกันว่า ภายในช่วงไม่กี่วันนี้ มีชาวกะเหรี่ยงมุ่งหน้ามาหาญาติพี่น้องในค่ายผู้ลี้ภัยฝั่งประเทศไทยอยู่ไม่น้อย พวกเขาได้กลิ่นคาวเลือดโชยมาแต่ไกล ช่องว่างแห่งความปลอดภัยเล็กๆที่เคยพอมีอาจถูกปิดในเร็ววัน ด้วยไม่รู้ว่ากองกำลังกะเหรี่ยงพุทธจะตัดสินใจประกาศจุดยืนอย่างไร ... จะเดินทางไปสมทบตามคำสั่งของรัฐบาลทหารพม่า .. หรือว่าจะแสดงตนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการฆ่าฟันผู้คนโดยเฉพาะพระสงฆ์ และไม่ว่าจะเป็นอย่างไร นั่นอาจคือความเปลี่ยนแปลงที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง


ทั้งผู้ลี้ภัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงและกะเรนนีประมาณหนึ่งแสนห้าหมื่นคนในค่ายผู้ลี้ภัยเก้าแห่งใน 4 จังหวัดของไทย ผู้ลี้ภัยนอกค่ายที่กระจัดกระจายอยู่ในหมู่บ้านชายแดนและเขตเมืองรวมทั้งชาวไทใหญ่ริมแม่ฟ้าหลวงและฝางที่ประมาณจำนวนไม่ได้ และแรงงานอพยพจากประเทศพม่าอีกนับล้าน ต่างเดินทางมาที่นี่ด้วยสาเหตุเดียวกันกับสาเหตุการตาย ทารุณกรรม จับกุม และการลุกขึ้นเดินแสดงออกเจตนารมณ์อย่างสันติในพม่าขณะนี้


ปีนี้ รัฐบาลไทยและองค์การระหว่างประเทศตั้งเป้าการส่งผู้ลี้ภัยให้โยกย้ายไปประเทศที่สามหรือต่างประเทศ 15,000 คน และอีกจำนวนเท่าๆกันในปีหน้า สภาพชีวิตผู้ลี้ภัยที่ถูกจำกัดเสรีภาพกระทั่งถึงกัดกร่อนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และข้อมูลที่ไหลเวียนสับสนในรั้วล้อมค่าย ไม่ว่าจะเป็นกระแสเสียงปากต่อปากบอกถึงความสิ้นหวังที่จะได้กลับบ้านในเวลาอันใกล้ รวมไปจนถึงข่าวลือว่ารัฐบาลไทยจะไม่อนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้อีกต่อไป กระตุ้นให้ผู้คนแสดงความจำนงสมัครไปต่างแดนกันมากขึ้น


ข่าวเหตุการณ์ประท้วงเผด็จการและการนองเลือดในกรุงย่างกุ้ง ค่อยๆกระจายไปทั่วค่าย เพื่อนของเราบางคนบอกว่า คนรอบข้างของเขายิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัยและสิ้นหวังจนอยากเร่งไปต่างประเทศให้เร็วขึ้น แต่บางคนก็กลับเกิดอาการลังเล เพราะบางที... บางที... “เราอาจจะไม่จำเป็นต้องไป”


จากหมู่บ้านริมขอบแดน ข่าวสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เพื่อนจากเขตดีเคบีเอเดินทางกลับไปอย่างเร่งด่วน ส่วนเพื่อนจากเขตเคเอ็นยูก็บอกว่า เขาหวังว่า “บางที.. บางที... ดีเคบีเอจะทบทวนทางเดินของตัวเองว่าจะเดินอยู่เคียงข้างใคร บางที เหตุการณ์ครั้งนี้ อาจทำให้พี่น้องดีเคบีเอและเคเอ็นยู – ที่บางคนก็ร่วมสายเลือดพ่อแม่เดียวกัน ได้กลับมาร่วมกินข้าวหม้อเดียวกันอีกครั้ง”


4. ค่ายผู้ลี้ภัยแบเกลาะหรือแม่หละมีประชากรผู้ลี้ภัยมากที่สุด คือกว่าสี่หมื่นคน เมื่อวันที่ 28 กันยายน ผู้คนไม่ถึงหลักสิบมานั่งดูภาพข่าวเหตุการณ์ในย่างกุ้งที่วัด และแล้วจำนวนก็ทะยอยพิ่มขึ้นจนเป็นหลักร้อย ถึงราว 300 โดยไม่ได้นัดหมาย


พระสงฆ์และผู้ลี้ภัยหลายร้อยคน ทั้งชาวพม่า กะเหรี่ยงสะกอ โปว์ และกลุ่มคนมุสลิม ร่วมกันออกเดินจากวัดไปยังสนามหญ้าใหญ่ เพื่อแสดงออกถึงเจตนารมณ์ของตนอย่างสันติ พวกเขากู่ร้อง “เราต้องการประชาธิปไตย” “เผด็จการทหารพม่าจงออกไป” “ปล่อยอองซานซูจีและนักโทษการเมือง” และ “ขอสันติสุขและมิตรภาพแด่ทุกคน” ตามเส้นทางที่พวกเขาผ่าน ผู้ลี้ภัยบางคนค่อยๆก้าวออกจากกระท่อมพักออกร่วมเดินทาง แม้บางคนจะยืนมองด้วยความหวาดหวั่น เพราะบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวที่นี่ คือข้อห้ามที่ว่า “ถ้าอยู่เมืองไทย ก็ต้องสงบเสงี่ยมไม่มีปากเสียง” ข่าวลือแพร่สะพัดว่าทางการไทยจะจับกุมหากชุมนุมเกิน 5 คน แต่แล้วก็เป็นเพียงแค่ข่าวลือ ยังดีที่รัฐไทยไม่ขลาดเขลา และน่าจะดียิ่งกว่านั้น หากเราจะไม่คืนคำที่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยได้ใช้เสรีภาพแห่งความเป็นมนุษย์ของตนได้


“เราไม่ได้ทำให้คนไทยเดือดร้อน เราเพียงแต่อยากแสดงความรู้สึกต่อการที่พี่น้องของเราถูกกระทำ เราอยากบอกว่า ถึงเราจะลี้ภัยมาอยู่เมืองไทย เราก็สนับสนุนพวกเขา เขาทำอย่างไรกับคนที่นั่น เราก็เจ็บเหมือนกัน” หนึ่งในแกนนำการเดินขบวนแจ้งกับเจ้าหน้าที่ไทยที่มาดูเหตุการณ์ พวกเขาจบขบวนด้วยการภาวนาตามวิถีพุทธ คริสต์ และอิสลาม ตามแต่ความเชื่อของสหายร่วมขบวน


หญิงชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งที่ร่วมขบวนบอกว่า นางพร้อมที่จะร่วมลุกขึ้นส่งใจให้กับ “ประชาชนพม่า” ที่ร่วมต่อต้านความโหดร้าย ป่าเถื่อน และการบีบบังคับ หลายๆคนก็บอกเราอย่างนั้น “ประชาชนพม่า... ประชาชนพม่า” ช่างเป็นคำที่น่าประทับใจ เราไม่ได้ยินคำนี้จากปากผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงมาแสนนานแล้ว เมื่อใดที่เอ่ยถึงผู้กดขี่ เพื่อนมักใช้คำว่า “พม่า” อยู่เสมอ จนคำว่า “พม่า” ในความรับรู้ แทบจะคือคำแทนคำว่า “ศัตรู” หรือ “ผู้ร้าย”


แล้ววันนี้เอง ที่พวกเขาหลายต่อหลายคน หันกลับมาเอ่ยถึงอย่างเฉพาะเจาะจง ระหว่าง “ประชาชนพม่า” และ “ทหารพม่า” หรือ “รัฐบาลพม่า” และเป็นหนึ่งในไม่กี่วัน ที่คนหลากหลายเชื้อชาติศาสนาซึ่งเคยมีความขัดแย้งจุกจิกในชีวิตประจำวันอยู่เนืองนิตย์ ร่วมเดินบนเส้นทางเดียวกันอย่างชัดเจน


หน้าจอโทรทัศน์บนวัดวันนั้น มีเพื่อนชาวกะเหรี่ยงบางคนน้ำตาไหลให้กับ “ประชาชนพม่า” มันอาจจะไม่ใช่น้ำตาจากความเศร้าโศกคั่งแค้นอย่างที่บอกไว้ เพราะพวกเขาเจ็บปวดจนไม่อาจร้องไห้ให้กับความตายและการทารุณกรรมอีกต่อไป แต่เขาบอกว่า มันเป็นน้ำตาแห่งความตื้นตัน เป็นน้ำตาแห่งความหวัง แม้ข่าวคราวจะบอกว่ากองทัพพม่าควบคุมถนนย่างกุ้งให้รกร้างว่างเปล่าได้แล้ว


บางที ในความเจ็บปวด อาจมีความหวังอย่างหนึ่ง เป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง ที่ทรงคุณค่าไม่น้อยไปกว่าความเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์การเมือง


5. ข่าวโทรทัศน์ที่เราได้มีโอกาสเห็นในช่วงสั้นๆเป็นครั้งแรก เป็นภาพของผู้เล่าข่าวหญิงที่แสดงทีท่าเป็นห่วงเป็นใยว่า “แล้วถ้ามีคนจะหนีมาชายแดนไทย เราจะมีวีธีป้องกันดูแลชายแดนอย่างไร หวังว่ากองทัพภาคที่สามคงจะมีแผนการเรียบร้อยแล้ว”


นี่หรือคือปฏิกิริยาแรกที่คนไทยควรจะมี เมื่อได้ยินข่าวการเข่นฆ่า .. ?


ยังดี ที่นายกฯของเราอยู่ในที่ประชุมสหประชาชาติ อันเป็นสถานที่ที่จำต้องประกาศจุดยืนอย่างศิวิไลซ์ จึงมีข่าวในวันต่อมาว่า รัฐบาลไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ที่หลบหนีการปราบปรามครั้งนี้
สิบเก้าปีแล้วไม่ใช่หรือ ที่ผู้คนอพยพหลั่งไหลมายังประเทศไทยไม่ขาดสาย แล้วเราก็แก้ปัญหาด้วยการรับผู้ลี้ภัยไว้ในค่ายที่ล้อมรั้วเสรีภาพ และส่งเสริมจนถึงหว่านล้อมให้พวกเขาออกไปประเทศที่สามให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้? เราแก้ปัญหาด้วยการผลักดันผู้ลี้ภัยชาวมอญให้กลับไปตั้งค่ายอพยพในเขตมอญ โดยคงสภาพเป็นคนอพยพที่ไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ เราจับกุมส่งกลับแรงงานอพยพซ้ำแล้วซ้ำอีก และเมื่อไม่นานมานี้ เราก็ผลักดันชาวกะเหรี่ยงที่หนีภัยเข้ามาทางแถบแม่สะเรียงให้กลับไปตั้งค่ายอพยพอยู่ในเขตประเทศพม่า และแผนการผลักดันผู้ลี้ภัยใหม่ก็ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง


นโยบายนานาของรัฐไทยที่ล้วนมีชื่อเก๋ๆ นั้นแปลได้ว่าเป็นการดำเนินความสัมพันธ์ที่ไม่แทรกแซงการเมืองที่ชั่วร้าย แต่คบหา – และหาประโยชน์กันทางเศรษฐกิจได้ เราร่วมลงทุนโครงการท่อก๊าซไทย-พม่า ที่ส่งผลให้เกิดการกวาดล้างชาวกะเหรี่ยงนับหมื่นที่เข้ามาเป็นผู้ลี้ภัยในราชบุรี-กาญจนบุรี เราส่งเสริมโครงการการเกษตรหลายรูปแบบรวมทั้งไร่ละหุ่ง ที่นำมาซึ่งการยึดที่ดินทำกินและขูดรีดภาษี เราเร่งโครงการร่วมไทย-พม่าสร้างเขื่อนสาละวิน ซึ่งกำลังผลักผู้คนอีกประมาณจำนวนแทบไม่ได้ ให้ต้องพลัดถิ่นฐานและล้มตายอย่างทารุณ เราร่วมมือทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลทหารพม่า ทั้งที่รู้อยู่ว่าเม็ดเงินจะไม่ตกมาถึงประชาชน หากมีแต่ไปเสริมพลังอาวุธของกองทัพ


เราอาจจะเหน็ดเหนื่อยจนคิดไม่ออก ว่าจะมีอะไรที่เราและใครอีกมากมายไม่เคยได้พูด ประณาม เรียกร้อง กระทั่งวิงวอน – สำหรับบางคน ต่อรัฐบาลพม่าอีกหรือไม่ ทว่ากับรัฐบาลไทย มีคำถามเพียงว่า เมื่อถึงบัดนี้แล้ว รัฐไทยจะยังยืนยันอีกหรือว่าเราเดินมาถูกทาง และกล้ายืนยันหรือไม่ว่าเราไม่ใช่ส่วนหนึ่งในการก่อความรุนแรงทั้งทางตรงและเชิงโครงสร้างในประเทศพม่า?


ไม่มีใครบอกว่าเป็นเรื่องง่าย สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศเผด็จการที่เหี้ยมโหดซ้ำยังมีชายแดนติดกันเป็นระยะทางยาว แต่เราจะยอมทบทวนบทบาทของตัวเองใหม่กันหรือยัง หลังจากที่ข้อเท็จจริงบอกซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า เราเดินมาผิดทาง ?


กับผู้ลี้ภัย ล่าสุดรัฐบาลไทยยังวางแผนจะผลักดันคนที่เข้ามาหลังการทำทะเบียนของมหาดไทย/ยูเอ็นเอชซีอาร์ราวสี่พันคน ไปยังหมู่บ้านคนพลัดถิ่นในเขตรัฐกะเหรี่ยง ทั้งที่ในสถานที่แคบๆนั้น ประชากรพลัดถิ่นเพียงราว 600 คนยังไม่สามารถทำกินเลี้ยงตัวเองได้พอเพียง ด้วยติดกับระเบิด กองทัพดีเคบีเอ กับกองทหารพม่าอยู่รอบข้าง กระทั่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา การสู้รบก็ดำเนินเข้าใกล้จนผู้คนเริ่มตระเตรียมโยกย้าย


หากท่านไม่ได้ยินเสียงร่ำร้องของผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในรัฐกะเหรี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ท่านได้ยินเสียงของผู้หาญกล้าในย่างกุ้งบ้างหรือไม่ ? แล้วประชาชนไทยเล่า วันนี้ เราหันมามองเห็น “พม่า” กันอีกครั้ง จะเป็นความคิดที่ลมๆแล้งๆเกินไปไหม ที่จะหวังว่า สายตาของเราจะจับจ้องพม่าเลยจากย่างกุ้งไปให้ถึงทั่วทั้งแผ่นดิน และจับจ้องไม่มีวางตา เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้จบเพียงการปราบปรามในวันนี้


อย่าเลย อย่าให้มันเป็นข่าวระทึกขวัญ ที่ไม่กี่วันก็วูบจางหาย กลิ่นคาวเลือดยังคงโชยมาถึงเรา ทุกวัน เราทำอะไรกันได้มากกว่าที่เป็นอยู่บ้างหรือเปล่า

ไม่มีความคิดเห็น: