วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2550

BPG ฉบับที่ 8 สันติวิถีไม่พ่ายแพ้

Burma Peace Group ฉบับที่ 8
5 ตุลาคม 2550
สันติวิถีไม่พ่ายแพ้

ราวกันยายนปีที่แล้ว ฉันเดินทางไปย่างกุ้งเพื่อเข้าอบรมวิปัสสนา สถานที่ปฏิบัติธรรมนั้นอยู่ใกล้กับเจดีย์ชเวดากอง ในช่วงเวลาสั้นๆที่ได้มีโอกาสเดินเตร็ดเตร่ ฉันได้สัมผัสถึงกลิ่นอายของความอัตคัดขัดสนของผู้คนที่นั่น แม้ว่าเวลาจะล่วงสายมากแล้ว พระสงฆ์พม่าหลายรูปก็ยังคงเดินบิณฑบาต เช่นเดียวกับแถบชายแดนแม่สอด ที่ฉันเคยเห็นแม่ชีและพระสงฆ์พม่ามาเดินบิณฑบาตกันอยู่เกลื่อน
เมื่อฆราวาสอดอยากยากจน พระสงฆ์ก็ย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกนักที่เราจะได้เห็นท่านออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการกระทำของรัฐบาลทหารพม่า ในเมื่อท่านอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่จะรับรู้ถึงความลำบากยากแค้นของประชาชนได้ใกล้ชิด
แม้ว่าการชุมนุมในประเทศพม่าครั้งนี้ จะถูกสลายลงด้วยการใช้ความรุนแรงจากรัฐบาลทหารพม่าอีกครั้ง แต่ก็ใช่ว่าความรุนแรงนั้นจะทำให้ประชาชนพม่ายอมจำนน
ก่อนการชุมนุมและการปราบปราม พระสงฆ์จำนวนมากไม่ยอมรับอาหารจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทหาร การแต่งกายของดอว์ อองซานซูจีในวันที่ออกมาพบกลุ่มพระสงฆ์ ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่านางสนับสนุนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ กระทั่งเมื่อมีการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมแล้ว ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็ยังแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะดูโทรทัศน์ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ บางส่วนก็ร่วมกันหยุดใช้ไฟฟ้าเพื่อแสดงความไม่พอใจให้ปรากฏ ทหารที่ยอมรับการกระทำของรัฐบาลทหารต่อประชาชนไม่ได้ก็ตัดสินใจหนีทัพออกนอกประเทศ
การเคลื่อนไหวเหล่านี้อาจไม่เป็นที่ถูกจับตามองของสื่อ แต่สำหรับฉันแล้ว มันเป็นการต่อต้านโดยใช้สันติวิธีที่มีพลังยิ่ง อำนาจทหารไม่ได้ทำให้พวกเขาก้มหัวด้วยความหวาดกลัว พวกเขายังคงปฏิบัติการต่อต้านรัฐอย่างต่อเนื่อง และไม่ยอมแพ้
การใช้ความรุนแรงโดยฝ่ายปกครองของพม่านั้น ไม่เพียงแต่เริ่มขึ้นเมื่อ 19 ปีที่แล้ว แต่ได้ดำเนินมาก่อนหน้านั้นหลายทศวรรษ กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นมอญ ไทใหญ่ คะฉิ่น กะเหรี่ยง คะเรนนี นากา อาระกัน ล้วนรู้รสชาติการถูกกดขี่ข่มเหงนี้มาเป็นอย่างดี ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ต้องรับผลของการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลทหารพม่าอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงทางตรง ซึ่งคือการกระทำระหว่างบุคคลต่อบุคคล เช่น การทำร้ายร่างกาย ฆ่า ข่มขืน ทรมาน ฯลฯ หรือการใช้ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง อันเป็นการลดทอนศักยภาพของมนุษย์ เช่น การที่กองทัพพม่านำงบประมาณแผ่นดินไปซื้ออาวุธ แทนที่จะมาใช้ดูแลการศึกษาหรือสุขภาพให้กับเด็ก ๆ เป็นต้น ดังที่เราได้เห็นผู้ลี้ภัยที่เข้ามาพักพิงอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า หรือแรงงานอพยพจำนวนหลักล้านในจังหวัดต่าง ๆทั่วประเทศนั่นเอง
ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ฉันคิดว่าเราควรช่วยกันสนับสนุนเป็นกำลังใจให้แก่พี่น้องและพระสงฆ์ชาวพม่าที่กำลังต่อสู้เพื่อสันติภาพในประเทศของตน เพื่อให้เขารู้ว่า ตนไม่ได้กำลังต่อสู้อยู่อย่างโดดเดี่ยว
แต่อาจไม่ง่ายนัก ประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทยฝังลึกอยู่ในหัวของเราหลายคนจนเกินไป เรามีอคติต่อคนพม่าเสมอมา เพื่อนต่างชาติของฉันเพิ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อเขาชวนเพื่อนคนไทยไปร่วมกิจกรรมจุดเทียนภาวนาที่หน้าสถานฑูตพม่า เพื่อนกลับย้อนถามว่า ทำไมเราจึงต้องไปช่วยคนพม่าด้วย ในเมื่อเขาเหล่านี้เคยรุกรานประเทศไทยมาก่อน



ฉันประเมินผิดไป เมื่อแรกที่เห็นภาพพระสงฆ์พม่าออกมาประท้วง ฉันคิดว่าพี่น้องชาวไทยซึ่งนับถือศาสนาพุทธคงจะออกมาร่วมกันสนับสนุนการเคลื่อนไหวครั้งนี้เสียอีก น่าแปลกที่เมื่อมีการเรียกร้องให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เราก็สนับสนุนกันออกหน้าออกตาบนท้องถนน แต่เมื่อพระสงฆ์ชาวพม่าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชนจนถูกทำร้ายและสังหารอย่างเหี้ยมโหด เราคนไทยชาวพุทธกลับนิ่งเฉยในวันเดียวกันที่มีการเสนอข่าวการประท้วงในพม่า ก็มีข่าวพระสงฆ์ไทยประท้วงเช่นกัน แต่เป็นการประท้วงภาพวาดที่พาดพิงถึงพระสงฆ์เอง เห็นภาพการต่อสู้ของพระไทยและพม่าแล้ว ฉันรู้สึกเศร้าใจอย่างบอกไม่ถูก
หลายครั้ง ฉันอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า อะไรกันที่ทำให้เรายอมรับกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัดตอนยุคนายกทักษิณปราบปรามยาเสพติด หรือในวันนี้ ที่มีการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิมในภาคใต้ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับความคิดที่ว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”
ฉันนึกไปถึงท่าทีที่เรามีต่อ “ยุง” เมื่อเปรียบยุงว่า “ร้ายกว่าเสือ” น่าเกลียดน่ากลัว และเป็น “อื่น” เราก็หาวิธีการมาจัดการมันอย่างไร้ความเมตตา เราบดขยี้ ตบมันด้วยมือ รวมไปจนถึงพัฒนาเครื่องมือไฟฟ้ามากำจัดมัน เราต้องกำจัดยุง เชื่อว่ามันเป็นพาหะนำเชื้อมาเลเรียและไข้เลือดออก แต่เราไม่เคยถามตัวเองเลยว่า แล้วยุงมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
คงไม่ต่างอะไรกันกับยุง เราป้ายสีและสร้างภาพให้กับแรงงานพม่า ชนเผ่า หรือคนมุสลิม โดยการลดภาพคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของพวกเขา แล้วเราก็กระทำกับเขาได้ราวกับเขาเป็น “อื่น” ที่ไม่ได้เป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับเรา ที่ต่างเกลียดทุกข์และรักสุข
เรามีภาพของคนพม่า ที่ดูเหมือนไม่ใช่คนเหมือนเรา แล้วเราก็เพิกเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาได้ เพราะเขาเป็น “อื่น” ที่ไม่ได้เกลียดทุกข์และรักสุขเช่นเดียวกับเราละหรือ?
มีคนบอกว่า สันติวิธีเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล เพราะรอบตัวเรามีศัตรูและอันตรายมากมายนัก ฉันได้ยินคนบอกว่า สันติวิธีในพม่าก็ไม่ได้ผล เพราะประชาชนถูกปราบปรามแล้วก็ต้องพ่ายแพ้ แล้วฉันก็ไม่ใคร่สบายใจ
การใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้บ่งชี้ว่าสันติวิธีไร้น้ำยา ปฏิบัติการสันติวิธีบอกเราว่า อำนาจจากปลายกระบอกปืนไม่สามารถควบคุมหรือทำให้มนุษย์เราหวาดกลัวได้ต่างหาก
หากคนไทยยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี เราจะปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราจะเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของเขา ไม่ว่าเขาคนนั้นจะพูดภาษา และถือศาสนาความเชื่อที่แตกต่างไปจากเรา และไม่ว่าเขาจะดีหรือเลว สันติวิธีมุ่งขจัด “ความหลงผิด” ในตัวบุคคล โดยไม่มุ่งขจัดตัวบุคคลนั้น เพราะสันติวิธีเชื่อว่า ความเลวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่นที่พระพุทธเจ้าได้ทรงให้โอกาสกับองคุลีมาลมาแล้ว
หากเราเคารพผู้อื่นอย่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สันติวิธีก็คงจะไม่เป็นแค่เพียงวิธีการ แต่จะเป็นสันติวิถีที่เราปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวัน
ฉันหวังว่าสักวันหนึ่งคนไทยจะก้าวพ้นจากกับดักแห่งมายาอคติ ที่ถูกรัฐชาติสร้างกรอบให้เรามีเพียงพื้นที่แห่งความเป็น “ไทย” จนหลงลืมไปว่า สังคมหนึ่ง ๆนั้นต้องประกอบไปด้วยความหลากหลายและความแตกต่าง
ฉันหวังว่า สันติวิธีในประเทศพม่า จะได้รับการสนับสนุนและกำลังใจจากเราอย่างเต็มเปี่ยม เมื่อพวกเขาไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม เราก็จะต้องไม่ยอมจำนนด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: