วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทยกับการสร้างมาตรการทางการค้าและการสร้างสันติสุขในประเทศพม่า



จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลไทยกับการสร้างมาตรการทางการค้าและการสร้างสันติสุขในประเทศพม่า

15 ตุลาคม 2550

เรียน พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี

ตัวแทนภาคประชาชนไทยผู้มีรายนามท้ายนี้มีความปรารถนาให้ประเทศพม่ามีพัฒนาการทางการเมืองไปในทางที่ดีและสันติ ต้องการให้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยสามารถเอา ชนะความยาก ลำบากและการทนทุกข์ทรมานจากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในหลายๆด้านในประเทศพม่า และสนับสนุนกระบวนการที่จะนำมาสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

หลังจากที่ ท่านทูต อิบราฮิม กัมบารี ได้เข้าไปเยือนประเทศพม่าและมีรายงานเสนอเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2550 ให้รัฐบาลพม่าและ SPDC ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมที่ร่วมการเดินขบวนประท้วงทั้งหมด ยุติการค้นบ้านค้นวัดและจับกุมประชาชนพม่าในยามวิกาลภายใต้ประกาศเคอร์ฟิว และยกเลิกคำประกาศเคอร์ฟิวโดยเร็ว โดยควรถอนกำลังทหารที่ประจำการตามท้องถนนออกไป และยอมให้กาชาดสากลเข้าพบผู้ถูกจับกุม และช่วยค้นหาผู้สูญหายจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา อีกทั้งอนุญาตให้ผู้ประท้วงที่ได้รับบาดเจ็บสามารถเข้ารับการรักษาตัวได้ยังสถานพยาบาลต่างๆ

แต่องค์กรต่างๆในประเทศไทยได้รับแจ้งจากประชาสังคมในประเทศพม่าว่า ทหารพม่าและรัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามข้อเสนอข้างต้นของท่านทูตกัมบารี ทหารยังปราบปรามประชาชนและพระสงฆ์ที่เข้าร่วมการประท้วงอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้มีมาตรการลดความตึงเครียกแต่อย่างใด อีกทั้งไม่ได้มีความพยายามที่จะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ผู้ถูกคุมขัง คนที่สูญหายและครอบครัวของพวกเขา

คนไทยรู้สึกห่วงใยต่อสถานการณ์พม่าเป็นอย่างยิ่ง โดยไม่ทราบว่ารัฐบาลพม่าจะเพิ่มมาตรการปราบปรามมากขึ้นหรือไม่ เพราะทั่วโลกทราบดีว่าทั้งรัฐบาลจีน อืนเดีย และไทย
ยังไม่มีมาตรการยุติการทำตัวเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับทหารพม่าและยังยืนยันการค้าขายกับพม่าต่อไปแต่ไม่ได้คำนึงว่าเงินที่ทำการค้านั้นได้ถูกใช้ไปกับซื้ออาวุธปราบปรามประชาชนและคนกลุ่มน้อยมาเป็นเวลานาน

ประชาสังคมไทยจึงขอเสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาดำเนินการเพื่อจะมุ่งหาหนทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพม่าอย่างจริงจังดังนี้

1. ไทยต้องมีแนวทางยุติการลงทุน และระงับโครงการขนาดใหญ่ที่จะเข้าไปลงทุนในพม่า โดยจะต้องมีมาตราการและนโยบายในเชิงรูปธรรมต่อการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อจะมิให้เกิดการนำรายได้ดังกล่าวเข้าไปใช้เข่นฆ่าทำร้ายพระสงฆ์และประชาชนพม่า
2. ไทยจะต้องให้ความช่วยเหลือคุ้มครองผู้ลี้ภัยจากการปราบปรามพระสงฆ์และประชาชนจากพม่า รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่เป็นผลกระทบอย่างต่อเนื่องของการใช้ความรุนแรงทั้งทางกายภาพและนโยบายของรัฐบาลทหารพม่า โดยต้องมองถึงความจำเป็นที่พวกเขาเหล่านั้นต้องหลบหนีจากประเทศของตนซึ่งมีอันตรายเข้ามา รัฐไทยมีหน้าที่ในการให้ความคุ้มครอง มิใช่มองพวกเขาเป็นปัญหาดังที่ผ่านมา
3. ไทยจะต้องร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างจริงจังในการกดดันให้รัฐบาลทหารพม่ายุติการปราบปราม จับกุมและทำร้ายพระสงฆ์และประชาชนโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น
4. ไทยจะต้องร่วมมือ และแสดงบทบาทต่ออาเซียนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพม่าทั้งระยะสั้น คือการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น และให้มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด รวมทั้งระยะยาวที่จะต้องมีการเอื้อให้เกิดกระบวนการปรองดองแห่งชาติ และมุ่งสร้างแนวทางการพัฒนาทางการเมืองที่เน้นประโยชน์อยู่ที่ประชาชนพม่า

ประชาสังคมไทยขอยืนยันว่าข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้วางอยู่บนพื้นฐานของความต้องการเห็นภูมิภาคนี้สงบสันติ ต้องการเห็นประชาชนในภูมิภาคนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และท้ายที่สุดวางอยู่บนพื้นฐานที่ต้องการให้การพัฒนาของประเทศไทยและพม่าในอนาคตข้างหน้าตั้งอยู่บนความมั่นคงยั่งยืนและมีจริยธรรม


ด้วยความนับถือ

11 องค์กรสิทธิมนุษยชนไทย
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)
เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี(อันเฟรล)
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า(กรพ.)
ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD)
กลุ่มสันติภาพเพื่อพม่า
คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี
องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น: